โรงงานเหล็กจีนจ่อหนีไทย หลังกระทรวงอุตฯเตรียมยกเลิกเตาหลอม IF

25 เมษายน 2568
โรงงานเหล็กจีนจ่อหนีไทย หลังกระทรวงอุตฯเตรียมยกเลิกเตาหลอม IF

โรงงานเหล็กจีนกว่า 14 แห่งจ่อหนีไทย เหตุกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมยกเลิกเตาหลอมเทคโนโลยี IF หลังควบคุมคุณภาพการผลิตไม่ได้

กระทรวงอตสาหกรรมโดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้ลงนามในคำสั่งให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) บรรจุวาระเพื่อพิจารณาทบทวนให้ยกเลิกการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเหล็ก (มอก.เหล็ก) ที่ผลิตโดยกระบวนการเตาหลอม (Induction Furnace หรือ เตา IF)

โดยเชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีเตาระบบเปิดที่ดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ยาก สร้างมลพิษฝุ่นและแก๊สพิษจากการผลิตเหล็ก อีกทั้งกระบวนการผลิตของเตาหลอม IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพเหล็กที่ผลิตออกมาให้สม่ำเสมอได้

นายเอกนัฏ ระบุว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ออก มอก.20-2543 (แก้ไขมาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต-เหล็กเส้นกลม) มอก.24-2548 เพื่อรองรับให้มีการใช้เตาหลอม IF ในการผลิตเหล็กข้ออ้อยมาตั้งแต่ปี 2559 ทำให้บริษัทที่ผลิตเหล็กจากเตาหลอม IF อย่างบริษัทซิน เคอ หยวน ได้รับ มอก.มาตั้งแต่ปี 2561

นอกจากนี้ที่ผ่านมาชุดปฏิบัติการของกระทรวงฯ เข้าตรวจสอบมาตรฐาน มอก.โรงงานผลิตเหล็กเตาหลอม IF หลายแห่ง ปรากฏว่าเหล็กที่ผลิตออกมาไม่ผ่านมาตรฐานตามที่ขอไว้ จึงเกิดการอายัดห้ามผลิตและจำหน่าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า โรงงานที่ผลิตเหล็กจากเตาหลอม IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้มีคุณภาพที่ดีได้

อีกทั้งในปัจจุบันมีโรงงานผลิตเหล็กที่ผลิตโดยกระบวนการเตาอาร์กไฟฟ้า Electric Arc Furnace (EF) ที่ใช้ไฟฟ้าในการหลอมเหล็ก ซึ่งกระบวนการผลิตเหล็กสามารถดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ดีกว่าเตาหลอม IF จึงสร้างมลพิษฝุ่นและแก๊สพิษน้อยกว่า และยังควบคุมคุณภาพได้ง่ายและสม่ำเสมอกว่า

นอกจากนี้ จากการหารือกับสมาคมผู้ผลิตเหล็ก และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แจ้งว่า ปี 2567 ไทยมีกำลังการผลิตเหล็กด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า EF ถึง 4.3 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กเส้นอยู่ที่ประมาณ 2.8 ล้านตัน ดังนั้นการทบทวนการออก มอก.ที่ใช้รับรองกระบวนการผลิตเหล็กจากเตาหลอม IF จึงสามารถดำเนินการได้ เพื่อที่จะยกเลิกเหล็กที่ผลิตจากเตาหลอมประเภทนี้

นายเอกนัฏกล่าวอีกว่า ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หากมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือระบบเศรษฐกิจ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) สามารถพิจารณาและมีมติให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม สามารถออกประกาศกระทรวงปรับแก้ไขยกเลิกการรับรอง มอก.เหล็กได้

โรงงานเหล็กจีนจ่อหนีไทย

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตเหล็กในไทยที่ใช้เตาหลอม IF มีทั้งหมด 14 โรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการสัญชาติจีน บางรายมีการร่วมลงทุนกับคนไทย โดยหากกระทรวงอุตสาหกรรมมีการทบทวนและพิจารณาให้ยกเลิกมาตรฐาน มอก. เหล็กที่ผลิตจากเตาหลอม IF โรงงานเหล็กเหล่านี้จะต้องเปลี่ยนเตาใหม่ทั้งหมด 

ซึ่งหมายความว่า จะต้องลงทุนใหม่ และการลงทุนใหม่จะต้องใช้เงินค่อนข้างมากเพื่อปรับปรุงให้ใช้เทคโนโลยีเป็นเตา EF เพราะฉะนั้น จึงมีโอกาสเป็นไปได้ที่ทางนักลงทุนเหล่านี้อาจจะต้องปิดกิจการและย้ายฐานการผลิตเหล็กเตา IF ออกจากไทย

สำหรับขั้นตอนการยกเลิก มอก.เหล็กที่ผลิตจากเตาหลอม IF หากดำเนินการตามขั้นตอนในภาวะปกติจะใช้เวลาค่อนข้างนานและยาก โดยเริ่มตั้งแต่สาเหตุของการปรับ/ยกเลิก มอก. เช่น เหล็กแผ่นห้ามชุบสังกะสี วัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน จากนั้นจึงต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาฯ เพื่อเกี่ยวข้องกับงานด้านการก่อสร้าง 60 วัน-180 วันและต้องมากำหนด มอก.ใหม่ ส่งหนังสือเวียนให้โรงงานผู้ผลิตเหล็กและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 

แต่หากอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบปัจจุบันหรือเรียกว่าเหตุฉุกเฉิน ก็อาจเป็นไปได้ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอาจใช้อำนาจรัฐมนตรีลงนามเพื่อออกประกาศคำสั่งยกเลิก มอก.เหล็กจากเตาหลอม IF ก็ได้

หนุนยกเลิกเตา IF

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็กที่ผลิตโดยกระบวนการใช้เตาอินดักชั่น Induction Furnace (IF) ว่า ในความคิดเห็นส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าเหล็กที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ในราคาที่เหมาะสมแม้จะได้รับผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้น แต่ก็ถือว่าแลกมาด้วยเรื่องของความปลอดภัย

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการผลิตเหล็กแบบ IF จะมีราคาที่ต่ำกว่าการผลิตด้วยเทคโนโลยี Electric Arc Furnace (EF) เพราะมีต้นทุนที่แตกต่างกัน จากกระบวนการผลิตที่การควบคุมคุณภาพไม่เข้มข้น

“การซื้อเหล็กอาจจะมีราคาที่สูงขึ้น แต่มองว่าไม่ได้แตกต่างกันมากมายเท่าใดนัก เพราะต้องเรียนว่าก่อนที่จะมีเตา IF สินค้าเหล็กเป็นสินค้าควบคุมโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ หากมีการขึ้นราคาหรือจำหน่ายในราคาสูงเกินความเหมาะสม ก็จะถูกควบคุม และถูกบังคับเรื่องราคาได้อยู่แล้ว”

อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการที่ใช้เตาแบบ IF ต้องถูกยกเลิก ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า อาจไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มมากมายเท่าใดนัก โดยทางออกที่สามารถทำได้ ประกอบด้วย

  • การดัดแปลงเตา IF โดยไม่ต้องรื้อทิ้งทั้งหมด เพราะการใช้เทคโนโลยี IF เป็นกระบวนการที่ใช้ตอนนำเศษเหล็กมาหลอม ดังนั้น จึงสามารถปรับปรุงได้โดยนำเทคโนโลยี Billet มาใช้รีดเป็นเหล็กเส้น หรือเหล็กข้ออ้อยได้
  • ปรับเปลี่ยน หรือดัดแปลงจาก IF เป็น EF ซึ่งมีการควบคุมคุณภาพที่แม่นยำ และเสถียรมากกว่า

“ต้องเรียนว่าที่ผ่านมาช่วงที่กระทรวงอุตฯให้ใช้เทคโนโลยี IF ได้ เพราะหากสามารถควบคุมวัตถุดิบได้ดี มีความรับผิดชอบก็สามารถทำได้จริง แต่ปรากฎว่าที่กระทรวงอุตฯสุ่มตวจช่วงหลัง พบว่ามีหลายรายที่ทำได้ไม่ถึงตามมาตรฐาน การปฏิบัติจริงไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือตามที่กำหนด”

ขณะที่การตรวจสอบเหล็กจากเทคโนโลยี EF โดยสำนักงานมาตรฐานผิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พบว่าไม่มีรายใดที่ตกมาตรฐาน 

นายนาวา กล่าวอีกว่า ในเชิงของการทำธุรกิจถือว่ามีความยุติธรรม เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการได้แต้มต่อ หรือข้อได้เปรียบจากโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีล้าสมัยในเรื่องของต้นทุนการผลิต

อีกทั้ง เทคโนโลยี IF นั้น หลายประเทศเช่น จีน และมาเลเซีย เป็นต้น ไม่ให้การยอมรับ และไม่อนุญาติให้นำเข้าไปใช้งานประเทศ

นอกจากนี้ ผู้บริโภคเองก็จะได้รับประโยชน์จากสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม เพราะสินค้าเหล็กมีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของที่อยู่อาศัย


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.